You are currently viewing การใช้ e-Signature ในประเทศไทย

การใช้ e-Signature ในประเทศไทย

การใช้ e-Signature ในประเทศไทย

     คุณเคยเปิดบัญชีธนาคาร ซื้อบ้าน ซื้อรถ ทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อผ่อนทรัพย์สินชิ้นใหญ่ๆจดทะเบียนบริษัท ทำบัตรประชาชน จดทะเบียนสมรส หรือทำธุรกรรมใดๆ กับหน่วยงานรัฐ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องลงลายมือชื่อบนเอกสารมากมาย

     ในการดำรงชีวิตของคนทุกคนเกี่ยวข้องกับการเซ็นชื่อในเอกสารต่างๆ มานับครั้งไม่ถ้วน สาระสำคัญของ “ลายเซ็น” คือ “การระบุตัวตนเพื่อยืนยันความรับผิดชอบ” นั่นเอง และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบสารสนเทศพัฒนามาจนถึงระดับที่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ จึงมีการพัฒนาลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ออกมาใช้งานบนระบบสารสนเทศ

e-Signature คืออะไร

     e-Signature (ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์) คือ ลายเซ็นที่สร้างขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนหรือความตั้งใจของผู้ลงนามในการทำธุรกรรมหรือสัญญา โดย e-Signature สามารถมีหลายรูปแบบและระดับความปลอดภัยที่แตกต่างกันไป ตามการใช้งานและความต้องการขององค์กรหรือบุคคล

Digital Signature คืออะไร

     Digital Signature (ลายเซ็นดิจิทัล) คือ รูปแบบเฉพาะของ e-Signature ที่ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ลงนามและความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ลงนาม ลายเซ็นดิจิทัลมีความปลอดภัยสูงและมักใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการความเชื่อถือได้สูง

ความแตกต่างระหว่าง e-Signature และ Digital Signature

     e-Signature (ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์) และDigital Signature (ลายเซ็นดิจิทัล) เป็นคำที่มักถูกใช้แทนกันได้ แต่ในทางเทคนิคมีความแตกต่างกัน ดังนี้

e-Signature (ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์)

ลักษณะทั่วไป

  • ความหมาย : เป็นการลงนามในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้แทนลายเซ็นที่เขียนด้วยมือ
  • ตัวอย่าง : การพิมพ์ชื่อในอีเมล การคลิกปุ่ม “ยอมรับ” หรือการวาดลายเซ็นบนหน้าจอสัมผัส
  • ความปลอดภัย : ความปลอดภัยขึ้นอยู่กับวิธีการและระบบที่ใช้ อาจมีการใช้รหัสผ่านหรือการยืนยันตัวตนเพิ่มเติม แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสขั้นสูง

การใช้งาน

  • เหมาะสำหรับการลงนามที่ไม่ต้องการระดับความปลอดภัยสูง เช่น การยืนยันการรับเอกสาร การยอมรับเงื่อนไขการใช้งาน หรือการทำธุรกรรมทางอีเมล

Digital Signature (ลายเซ็นดิจิทัล)

ลักษณะทั่วไป

  • ความหมาย : เป็นรูปแบบเฉพาะของ e-Signature ที่ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบคู่กุญแจ (Public Key Infrastructure – PKI) เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ลงนามและความสมบูรณ์ของข้อมูล
  • การเข้ารหัส : ใช้คู่กุญแจที่ประกอบด้วยกุญแจส่วนตัว (Private Key) และกุญแจสาธารณะ (Public Key) โดยผู้ลงนามใช้กุญแจส่วนตัวในการลงนาม และผู้รับสามารถใช้กุญแจสาธารณะในการตรวจสอบลายเซ็น
  • ความปลอดภัย : มีความปลอดภัยสูงมาก สามารถยืนยันตัวตนของผู้ลงนามได้แน่นอนและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้

การใช้งาน

  • เหมาะสำหรับการลงนามในเอกสารที่ต้องการความปลอดภัยสูง เช่น สัญญาทางธุรกิจ การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือเอกสารทางกฎหมาย

สรุปความแตกต่าง

  • e-Signature : เป็นการลงนามในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปที่สามารถใช้วิธีการต่างๆ ที่สะดวกและมีระดับความปลอดภัยหลากหลายขึ้นอยู่กับวิธีการที่เลือกใช้
  • Digital Signature : เป็นรูปแบบเฉพาะของ e-Signature ที่ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบคู่กุญแจ มีความปลอดภัยสูงและใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการการยืนยันตัวตนและความถูกต้องของข้อมูลที่เชื่อถือได้
     ทั้งสองประเภทมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่การเลือกใช้ประเภทไหนขึ้นอยู่กับระดับความปลอดภัยที่ต้องการและประเภทของเอกสารหรือธุรกรรมที่ทำ
e-Signature ที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

     กฎหมายไม่ได้ระบุให้ e-Signature มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเปิดกว้างให้มีความครอบคลุมภาพรวมของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทุกรูปแบบดังที่ได้เกริ่นไว้แล้วข้างต้น และเพื่อรองรับหลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality) ที่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ใช้งานมีความยืดหยุ่น สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสมกับความเสี่ยงของธุรกรรมนั้นๆ

     แต่เพื่อให้เป็น e-Signature ที่สมบูรณ์และได้รับการรับรองด้วยกฎหมายแล้วนั้น e-Signature จะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. สามารถระบุตัวตนของเจ้าของลายเซ็นได้ ว่าผู้เซ็นคือใคร
  2. สามารถระบุเจตนาตามข้อความที่เซ็นได้ ว่าเซ็นเพื่ออะไร
  3. มีการรักษาความครบถ้วนของข้อมูล มีหลักฐานแสดงได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงความหมายของข้อความที่ลงลายมือชื่อ หรือใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการเซ็น เช่น ทำผ่านระบบที่มีความปลอดภัย มีหลักฐาน พยาน หรือบุคคลที่ 3 ที่รับรองการเซ็น เป็นต้น

ภาครัฐ-ประชาชน ร่วมกันใช้ประโยชน์ e-Signature

     e-Signature จะเป็นกลไกสำคัญที่มาพลิกโฉมการจัดการบริการต่างๆ ของภาครัฐที่มีให้กับประชาชนจากวิถีแบบเดิมๆ ไปสู่ระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ เพิ่มทางเลือกใหม่ในการติดต่อและขอรับบริการจากภาครัฐ โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน ไม่ต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก หรือรอการเซ็นอนุมัตินานๆ อีกต่อไป

     แม้แต่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่เดินทางไปยังหน่วยราชการลำบาก แต่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงก็สามารถรับบริการจากภาครัฐได้อย่างง่ายดาย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและบริการจากภาครัฐ ที่สำคัญคือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลง เช่น ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ เป็นต้น

     ในที่สุดแล้วประชาชนและภาครัฐจะใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้ภาครัฐรู้ความต้องการของประชาชนและสามารถพัฒนาต่อยอดบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการให้กับประชาชนได้อย่างตรงจุดและทันสถานการณ์ ซึ่งผลประโยชน์ทั้งมวลก็ตกอยู่กับประชาชนผู้รับบริการงานจากภาครัฐนั่นเอง

ภาคเอกชนกับ e-Signature

     สำหรับการใช้งาน e-Signature ในองค์กรธุรกิจ ควรใช้เป็น e-Signature แบบเชื่อถือได้ หรือ มีใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการใบรับรอง เช่น Digital Signature ซึ่งเป็นลายมือชื่อที่มีการเข้ารหัส ช่วยให้สามารถยืนยันตัวตนเจ้าของลายมือชื่อ ระบุเจตนาตามข้อความที่ได้ลงนามไว้ และสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของข้อความและลายมือชื่อได้ ทำให้เจ้าของลายมือชื่อไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ทั้งนี้เพราะธุรกรรมที่เกิดขึ้นมักมีมูลค่าและความเสี่ยงสูง จึงควรใช้ e-Signature ประเภทที่มีความปลอดภัยสูงตามไปด้วย

     ข้อดีของการนำ e-Signature มาใช้กับองค์กรธุรกิจคือช่วย ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ประหยัดเวลาเพราะทำผ่านออนไลน์ได้ในไม่กี่นาที ลดต้นทุน เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ ซึ่งส่งผลทางอ้อมไปสู่การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม และหากพิจารณาในด้านสังคมยังช่วยลดการสัมผัส ซึ่งลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของ COVID-19 ได้อีกด้วย

     ในปัจจุบันเริ่มมีองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่นำเทคโนโลยี e-Signature ไปใช้ เช่น บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน), ธนาคารเกียรตินาคิน, บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งองค์กรเหล่านี้สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า เพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน มีความน่าเชื่อถือของข้อมูล ซึ่งมีส่วนสนับสนุนความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้น

     ที่ผ่านมาวิกฤตจากการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้หลายหน่วยงานต้องหาวิธีและทางออกในการทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่จำกัดในหลายๆ ด้าน ซึ่ง e-Signature เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ได้ตรงจุด แม้ว่าหลายหน่วยงานเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้จากสถานการณ์บีบบังคับ แต่ในท้ายที่สุดการใช้ e-Signature ก็จะมีการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

Source of information : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA